ขั้นตอนการไหว้ครู

๑.  จัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณที่จัดให้เรียบร้อย
๒.  เชิญหัวโขนหรือศีรษะครู ทั้งที่เป็นเทพเจ้า เทวดา ฤาษี และคนธรรพมาประดิษฐาน เพื่อเป็นประธานตั้งไว้บนโต๊ะที่เตรียมพร้อมแล้ว
๓.  นิมนต์พระภิกษุ จำนวน ๙ รูป มาทำพิธีสวดมนต์เย็นเพื่อความเป็นสิริมงคล ในบริเวณสถานที่ที่จัดไว้ในตอนเย็น และนิมนต์มาทำพิธีอีกครั้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเริ่มพิธีไหว้ครู
๔.  จัดเครื่องกระยาบวช เครื่องสังเวย เครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียน
เครื่องสังเวยจะจัดออกเป็น ๓ ชุด คือ
     - ส่วนของพระมหาเทพ เทวดา นางฟ้า เป็นอาหารสุก
     - ส่วนของพระครูฤาษี พระปรคนธรรพ เป็นอาหารสุก
     - ส่วนของพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพอสูร เป็นอาหารดิบ
๕.  เชิญประธานจัดงานมาจุดธูปเทียนบูชาครู  ครูผู้ประกอบพิธีแต่งชุดขาว อ่านโองการเชิญครูต่างๆ มาร่วมในพิธี

    "พิธีไหว้ครู" หมายถึง การสำรวมใจระลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และพร้อมใจกันเปล่งเสียงวาจาด้วยความเคารพที่ครูผู้กระทำพิธีอ่านโองการ
๖.  
ดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงตามที่ครูผู้ประกอบพิธีจะเรียกเพลง หลังจากที่อ่านโองการเชิญครูปัธยายแต่ละองค์แล้ว
๗.  ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวถวายเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ ที่ได้จัดมา เสร็จแล้วกล่าวลาเครื่องเซ่นสังเวย
๘.  ผู้มาร่วมงานรำถวายเพื่อบูชาครู ซึ่งนิยมรำเพลงช้า-เพลงเร็ว เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงบางเพลง เช่น ตระนิมิตร ตระบองกัน คุกพาทย์ เป็นต้น
๙.  ครูผู้ประกอบพิธี ทำพิธีครอบให้ศิษย์ที่มาร่วมงาน โดยนำศีรษะครูมาครอบให้ ๓ ศีรษะ คือ
     -  ศีรษะพระครูฤาษี อันเป็นสัญลักษณ์ครูทั่วไป
     -  ศีรษะพระพิราพ อันเป็นสัญลักษณ์ครูโขน
     -  ศีรษะเทริดโนห์รา อันเป็นสัญลักษณ์ครูละคร

    "พิธีครอบครู" หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ (รับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา ครูจะอยู่กับศิษย์คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนการรำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์ ทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจ มีความมั่นใจมากขึ้น และพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษานาฏศิลป์ทุกคนถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ที่ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ในระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ ก่อนจะรำผู้ศึกษาจะต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้
๑๐.  ลูกศิษย์นำขันกำนล มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าขาว เงินกำนลครู ๒๔ บาท (อาจแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ ๖ บาท ๑๒ บาท ๒๔ บาท หรือ ๓๖ บาท)  ผู้ที่ได้รับครอบถือว่าเป็นศิษย์ที่มีครูแล้ว และในวงการนาฎศิลป์ได้รับคนผู้นี้เป็นนาฎศิลป์โดยสมบูรณ์
๑๑.  ลูกศิษย์ที่จะจบออกจากสถาบันเป็นปีสุดท้าย จะเข้ารับมอบ โดยครูผู้ประกอบพิธีจะส่งศรพระขันธ์ให้กับศิษย์ผู้นั้นรับไว้ เปรียบเสมือนการขออนุญาตเพื่อไปสอนศิษย์ต่อไป

     "พิธีมอบ" เป็นขั้นตอนที่สูงที่สุด หมายถึง การได้รับการมอบความรู้ความเป็นครู ผู้สืบทอดการอบรมสั่งสอนในสมัยที่ยังไม่มีปริญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดความรู้ ครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์จะพิจารณาว่า ศิษย์คนใดมีความรู้ในวิชานาฏศิลป์มีฝีมือในการรำยอดเยี่ยม จนถือเป็นแบบแผนที่ดีได้ และมีความประพฤติเรียบร้อย เหมาะสมที่จะเป็นครูสืบทอดความเป็นผู้รู้ให้กับผู้อื่นได้ต่อไป  การมอบนั้น ครูผู้กระทำพิธีจะรวบรวมบรรดาอาวุธทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโขน-ละคร เช่น พระขรรค์ ดาบ หอก ธนู รวมทั้งบทละคร มัดรวมไว้ และครูจะภาวนาคาถาประสิธิ์ประสาทความเป็นผู้รู้ และส่งมัดอาวุธให้ศิษย์ได้น้อมรับ
๑๒.  ครูผู้ประกอบพิธีจะเจิมหน้าผาก ประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้ของที่ระลึก(ถ้ามี) และกล่าวคำอวยพรให้กับศิษย์ทุกคนที่เข้าพิธีไหว้ครู
๑๓.  ศิษย์ทุกคนจะรำส่งครู ซึ่งนิยมรำโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป