การละเล่นพื้นบ้านพื้นเมือง

 

        การละเล่น หมายถึง การเล่นดนตรี การเล่นเพลง การเล่นรำ การเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เรียกว่า มหรสพหรือศิลปะการแสดง
        พื้นเมือง หมายถึง สิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ

        การละเล่นพื้นเมือง หมายถึง การแสดงใด ๆ อันเป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นและเล่นกันใน ระหว่างประชาชน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล การแสดงต้องเป็นไปอย่างมีวัฒนธรรม มีความเรียบร้อย ใช้ถ้อยคำสุภาพ แต่งกายสุภาพถูกต้องตามความนิยมและวัฒนธรรม เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น สถานที่ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับโอกาสที่จะแสดง ซึ่งการละเล่นพื้นเมือง จะไม่เป็นอาชีพหรือเพื่อหารายได้ จะมีดนตรีหรือการขับร้อง หรือการฟ้อนรำประกอบก็ได้

        การละเล่นพื้นเมือง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ การแสดงพื้นเมือง และ เพลงพื้นเมือง

การแสดงพื้นเมือง หมายถึง การละเล่นที่มีการแสดง การร่ายรำ มีเพลงดนตรีประกอบ ที่ได้วางเป็นแบบแผน และนิยมเล่นหรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนแพร่หลาย
การแสดงพื้นเมือง อาจเกิดจากการบูชาบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ขอให้สิ่งที่ตนนับถือประทานสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ปรารถนา  นอกจากนี้ ก็เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริง

เพลงพื้นเมือง  หมายถึง  เพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ ประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลง ไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดในท้องถิ่นของตน นิยมร้องเล่นกันในเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุมรื่นเริง เช่น ตรุษ สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และในการลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นการเล่นที่สืบต่อกันมา
        เนื้อความของเพลงพื้นเมืองที่นิยมร้องกัน มักจะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ปะทะคารมกัน ในด้านสำนวนโวหาร สิ่งสำคัญของการร้องคือ การด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เกิดความสนุกสนานทั้งสองฝ่า

การละเล่นพื้นเมืองภาคเหนือ

        ในภาคเหนือ ภูมิประเทศเป็นป่าเขา ต้นน้ำลำธาร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากินสะดวกสบาย ชาวเหนือจึงมีนิสัยอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี การแสดงพื้นเมืองจึงมีลีลาอ่อนช้อย งดงามและอ่อนหวาน
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เรียกกันว่า ฟ้อน มีผู้แสดงเป็นชุดเป็นหมู่ ร่ายรำท่าเหมือนกัน แต่งกายเหมือนกัน มีการแปรแถวแปรขบวนต่าง ๆ
ลักษณะของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่
        ลีลาการเคลื่อนไหว  เป็นไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละภาค
        เครื่องแต่งกาย  เป็นลักษณะพื้นเมืองของภาคนั้น ๆ
        เครื่องดนตรี  เป็นของท้องถิ่น ได้แก่ ปี่แน กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย
        เพลงบรรเลงและเพลงร้อง เป็นทำนองและสำเนียงท้องถิ่น

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่  ฟ้อนเทียน  ฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเมือง  ฟ้อนลาวแพน  ฟ้อนรัก  ฟ้อนเงี้ยว  ฟ้อนดวงเดือน  ฟ้อนดวงดอกไม้  ฟ้อนดวงเดือน  ฟ้อนมาลัย  ฟ้อนไต  ฟ้อนดาบ  ฟ้อนโยคีถวายไฟ  ระบำชาวเขา  รำกลองสะบัดไช

เพลงพื้นเมืองภาคเหนือ  เช่น เพลงซอ เพลงชาวเหนือ เพลงดวงดอกไม้

        ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคเหนือ

เพลงซอ ทำนองซอละม้ายหญิง
 น้อยมานพอ้ายจะมาเป็นกู่พี่มานพ ที่จุมาเป็นกู่
 อ้ายช่างมีความฮู้ ติดตั๋วท่องหาพี่มีความรู้บ้างไหม
 จะมาเป็นผัวมันต้องมีปัญญา ที่จะมาเป็นสามีต้องมีความรู้ปัญญา
 ถ้าบ่หมีวิชาเอากั๋นตึงบ่ได้ถ้าไม่มีวิชา แต่งงานกันไม่ได้
 หากมานพจะมาเป็นผัวหากมานพจะมาเป็นสามี
 ตั๋วจะต้องมีความฮู้เอาไว้พี่ต้องมีความรู้เอาไว
 หน้าต๋ากะหลวก ถ้าใจ่ก๋านบ่ได้ หน้าตาก็ฉลาด ถ้าใช้ทำงานไม่ได้
 แล้วไผจะเอาอ้ายมานอนโตยแล้วใครจะเอาพี่มานอนด้วย
 น้อยมานพจะมาเป็นกู่พี่มานพจะมาเป็นคู่
 ถ้าบ่หมีความฮู้ ข้าเจ้าตึงบ่เอาเป็นผัวถ้าไม่มีความรู้น้องก็ไม่เอา มาเป็นสามี
 สมัยเดี๋ยวอี่บัวตองตึงกั๋วสมัยปัจจุบันนี้น้องบัวตองกลัว
 บ่มีความฮู้ติดตั๋วเอากั๋นตึงบ่ได้ไม่มีความรู้ติดตัวแต่งงานกันไม่ได้
 ป่อแม่ข้าเจ้าตึงบ่เปิงใจ๋ พ่อแม่ของน้องจึงไม่พอใจ
 กั๋วเอาของไปชุบบ่ตาย กั๋วอับ กั๋วอายกลัวว่าจะเอากันไปใช้เปล่าๆ
 ไปแผวปี่ แผวน้อง จิ่มแหล่นอกลัวจะอายไปถึงพี่น้อง

 

การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน

        ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก จีงหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส
การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล เช่น แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฯลฯ
ลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลาและจังหวะในการก้าวเท้า มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวล มักเดินด้วยปลายเท้าและสบัดเท้าไปข้างหลังสูง เป็นลักษณะของ เซิ้ง
        ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ได้แก่ กลองยาว กรับ ฉาบ โหม่ง แคน โปงลาง

การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่ ฟ้อนภูไท  เซิ้งสวิง  เซิ้งโปงลาง  เซิ้งตังหวาย  ภูไทสามเผ่า  ไทภูเขา  เซิ้งกระติบข้าว

เพลงพื้นเมืองภาคอีสาน  เช่น หมอลำ เพลงโคราช เจรียง กันตรึม เพลงล่องโขง เพลงแอ่วแคน

        ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคอีสาน

หมอลำเพลิน
 จังวางเปิดม่านกั้งแจ้งสว่างอยู่ในตาตาส่องหาพี่ชายผู้เสื้อลายบ่มา บ้อ
 แฟนพี่ชาย อยู่เทิงฮ่านโอ้ โอย เด้ ชาย ฟังเด้ออ้าย เด้ออ้าย
 ผู้ชายงามบ้านเพิ่นน่องมาคิดอยากได้โตเจ้าไว้กล่อมนอน
 น่องผู้ฮ่าย ผู้ฮ่าย อ้ายสิบ่สนใจเฮ็ดจั๋งได๋นอชาย
 น่องคนจนพร้อมจนใจแล่ว ใจแล่ว
 แนวมันพาทุกข์หาความสุขกายใจอยู่ที่ไฮ่นา
 เชิญเถิดค้า เถิดค่ามาจากันก่อน อย่าซิฟ่าวใจฮ่อน จ่มว่ารำคาญ
 ขันไปบ้าน ไปบ้านขอนแก่นทางอีสาน ขอเชิญวงศ์วานเยี่ยมยามกันบ้าง
 จาทอนี่ ทอนี่ พอเป็นแบบอย่างฮู่แนงทางตำนานครู ข้าได้สอนมา
 ว่าจังได๋คนดี สนนางบอน้ออ้ายน้ออ้าย น้ออ้าย

 

การละเล่นพื้นเมืองภาคใต

        ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง และมีขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคคลิกบางอย่างคล้ายคลีงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจรวดเร็วเด็ดขาด การแต่งกาย เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมาก
การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.  มหรสพ  คือ  การแสดงเป็นเรื่อง เช่น หนังตะลุง มีตัวหนัง มีคนเชิด มีการร้องและเจรจา นอกจากนั้นมี ลิเกป่า หรือลิเกรำมะนา หรือลิเกแขกแดง หรือลิเกแขกเทศ หรือลิเกบก ซึ่งผู้แสดงโต้ตอบกันเป็นเรื่องราว  อีกการแสดงคือ โนรา ถ้าเล่นเป็นเรื่องก็ถือเป็นมหรสพ แต่ถ้าร่ายรำเป็นชุด ก็ถือเป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด
๒.  การแสดงเบ็ดเตล็ด  คือ  ร่ายรำเป็นชุด เช่น  โนรา  ร็องเง็ง  ซัมเปง  ตารีกีปัส  ระบำร่อนแร่  กรีดยาง ปาเต๊ะ  รำซัดชาตรี
        ดนตรีของภาคใต้  ได้แก่ กลองแขก รำมะนา ปี่ ทับ โหม่ง ฉิ่ง ซอ

เพลงพื้นเมืองภาคใต้  เช่น เพลงร้องเรือ(เพลงกล่อมเด็ก) เพลงบอก เพลงกำพรัด(หรือคำพลัด)

        ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคใต้

เพลงบอก

เพลงบอก เป็นเพลงพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีการแพร่กระจายทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดไปถึงคนไทยในประเทศมาเลเซีย  ศิลปินที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
คำว่าเพลงบอก มาจากภาระหน้าที่ของเพลงชนิดนี้ กล่าวคือ สมัยก่อนเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีนักเลงกลอนชาวบ้าน เที่ยวตระเวนไปแทบทุกครัวเรือน เพื่อขับร้องกลอนบอกสงกรานต์ตามคำทำนายของโหรหลวง เพลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "เพลงบอก"

        กลอนเพลงบอกพัฒนามาจาก "แปดบท" ขุนประดิษฐ์เป็นผู้คิดดัดแปลง จึงเรียกกันในครั้งนั้นว่า "เพลงบอกขุนประดิษฐ์"  ต่อมาพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธัชเถร) ได้ปรับรูปแบบกลอนอีกครั้งหนึ่ง และได้ใช้แต่งเรื่อง "ศาลาโกหกหรือสัจจศาลา" มอบให้ลูกเสือมณฑลนครศรีธรรมราชนำไปร้องในคราวชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2470

        ผู้แสดง  ใช้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างน้อย 6-7 คนหรือมากกว่านี้ก็ได้ ประกอบด้วยแม่เพลงและลูกคู่

        การแต่งกาย  แต่งกายแบบพื้นเมืองชาวภาคใต้ตามลักษณะชาวบ้านที่มีความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ

        การแสดง  จะแตกต่างกันไปตามโอกาส ซึ่งถือว่ามีขนบนิยมในการเล่น ดังนี้

1.  เล่นบอกสงกรานต์  เล่นได้ในช่วงตั้งแต่ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 จนถึงวันเถลิงศก โดยคณะเพลงบอกและผู้นำทางซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน ออกว่าเพลงบอกไปตามบ้านต่างๆ ตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง
วิธีเล่นเพลง เมื่อคณะเพลงบอกถึงเขตรั้วบ้าน แม่เพลงจะขึ้นบทไหว้ครู ไหว้นนทรี ซึ่งเป็นเทวดารักษาประตูบ้าน ไหว้พระภูมิและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  เมื่อก้าวเข้าสู่ลานบ้านจะชมบ้านเรือน ทรัพย์สินต่างๆ ฝ่ายเจ้าบ้านจะเปิดประตูปูเสื่อต้อนรับนอกตัวเรือน  หลังจากคณะเพลงบอกสนทนากับเจ้าบ้านชั่วครู่ ก็ร้องกลอนบอกเรื่องราวของสงกรานต์ที่โหรทำนายให้ทราบ  เจ้าบ้านอาจให้คณะเพลงบอกร้องกลอนเล่าตำนานสงกรานต์ หรืออาจยกถาดข้าวขวัญจากยุ้งข้าวมาให้คณะเพลงบอกร้องบูชาแม่โพสพ  เมื่อเจ้าบ้านพอใจก็จะตกรางวัลให้ตามธรรมเนียม คณะเพลงบอกจะร้องเพลงอวยพร แล้วไปร้องบอกสงกรานต์บ้านอื่นๆ ต่อไป

2.  เล่นบอกข่าวคราวและโฆษณา  เช่น งานบุญต่างๆ เพลงบอกจะร้องเชิญชวนทำบุญ โดยจุดที่เพลงบอกอยู่จะมีการรับบริจาค  เมื่อถึงช่วงเลือกตั้ง ทางราชการอาจจะหาเพลงบอกมาร้องกลอนเชิญชวนชาวบ้าน ให้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ชี้แนะให้เลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นต้น
ทางด้านการโฆษณาเพื่อผลทางธุรกิจ ได้มีบริษัทห้างร้านหลายแห่งใช้เพลงบอกโฆษณาสินค้าทางวิทยุ และในงานสวนสนุก

3.  เล่นประชัน  คือ จัดเพลงบอก 2 คณะ ให้ร้องโต้กลอนสด  การเล่นจะจัดให้เพลงบอกคู่ประชันนั่งห่างกันประมาณ 1 วา โดยมีประธานนั่งกลาง แต่ละฝ่ายจะมีแม่เพลง 1 คน และลูกคู่ 2-3 คน ไม่มีกรรมการ  เริ่มโต้โดยผลัดกันไหว้ครู จากนั้นฝ่ายหนึ่งร้องนำเป็นทำนองข่มสำทับฝ่ายตรงกันข้าม เช่น เรื่องบุคคลิกลักษณะ ประวัติชีวิต ความรู้ความสามารถ  การกล่าวข่มสำทับจะใช้วิธีอุปมาหรือไม่ก็ยกอุทาหรณ์ประกอบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้ทันกัน  การโต้จะดำเนินไปจนอีกฝ่ายเริ่มจนปัญญาจะยอมแพ้ หรือยุติกันไปเอง หรือไม่ก็ฟังเอาจากเสียงโห่ของคนฟัง ถ้าฝ่ายใดคนฟังให้เสียงโห่จนสิ้นเสียง ฝ่ายนั้นชนะ

4.  ร้องชา  เป็นการร้องเพลงบอกเพื่อการบวงสรวง บูชา หรือยกย่องชมเชย เช่น ชาขวัญข้าว ชาพระบรมธาตุ ชาปูชนียบุคคลและบุคคลสำคัญ
การร้องเพลงชาสิ่งเร้นลับเพื่อการบวงสรวง เช่น ชาขวัญข้าว จะต้องจัดเครื่องเซ่นบวงสรวงด้วย  ลำดับขั้นตอนการในการร้องชาต้องถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา

       ดนตรี  ใช้ฉิ่ง 1 คู่ สำหรับตีให้จังหวะ

       เพลงร้อง  จะใช้เพลงร้องเป็นกลอนเพลงบอกบทหนึ่งมี 2 บาท แต่ละบาทมี 4 วรรค คำสุดท้ายของบาทแรก ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของบาทแรกของบทต่อไป

        ตัวอย่างตอนหนึ่งจากการประชันเพลงบอก ระหว่างเพลงบอกรุ่ง อำเภอปากพนัง กับเพลงบอกปาน
อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

(รุ่ง)     ปานนี้เปรียบเหมือนกับชูชกมันแสนสกปรกเหลือประมาณ
 อ้ายเรื่องหัวไม้ขอทานแล้วใครจะปานกับมัน
      เปิดคนที่ขี้ขอยิ่งคนเขายอว่าสำคัญ
 แล้วตัวมันยิ่งกินยอเห็นว่าคนพอใจ
      พัทลุงหรือสงขลาตลอดมาถึงนคร
 ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อนแล้วคนอื่นไม่พักไขว่
(ปาน)     จริงแหละรุ่งปานเหมือนชูชกแต่ปานจะยกรุ่งเป็นพระเวสสันดร
 ครั้งชูชกเข้าไปวอนแล้วรุ่งให้ไม่เหลือไหร่
      ถึงลูกเมียยังไม่แน่ครั่งพอปานแวะเข้าไป
 บางทีสิ่งไรที่รักใคร่ก็รุ่งต้องให้มา
(รุ่ง)     เราไม่เป็นพระเวสสันดรเพราะจะเดือนร้อนในที่สุด
 เราจะเป็นนายเจตบุตรที่มันเลิศเป็นนักหนา
      ได้รับคำสั่งท้าวเจตราษฏร์เหมือนหมายมาดที่เป็นมา
 คอยรักษาอยู่ประตูป่าถ้ามึงมาเวลาใด
      เราจะคอยยิงด้วยธนูหน้าไม้ให้ชูชกมันวายชีวิต
 น้ารุ่งยกกลอนขึ้นประดิษฐ์เห็นว่าไม่ผิดไหร่
(ปาน)     จริงแหละรุ่งตนเป็นเจตบุตรเป็นคนประเสริฐสุดงามวิไล
 ถ้าเมื่อชูชกเข้าไปต้องม้วยซึ่งชีวา
      แต่คนอื่นอื่นเขาเลี้ยงวัวบางคนก็เลี้ยงควาย
 แต่เจตบุตรรุ่งนายทำไมถึงเลี้ยงหมา

 

การละเล่นพื้นเมืองภาคกลาง

        ภาคกลางมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ประชาชนอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่าง ๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาล และตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง
ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกัน และพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆ จนบางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง  และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว เช่นการจีบมือ ม้วนมือ ตั้งวง การอ่อนเอียง และยักตัว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่  รำวง  รำเหย่ย  เต้นกำรำเคียว  เพลงเกี่ยวข้าว  รำชาวนา  เพลงเรือ  เถิดเทิง  เพลงฉ่อย  รำต้นวรเชษฐ์  เพลงพวงมาลัย  
เพลงอีแซว  เพลงปรบไก่  รำแม่ศรี

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ วงปี่พาทย์

เพลงพื้นเมืองภาคกลาง  เช่น เพลงเหย่อย เพลงเทพทอง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงพิษฐาน เพลงเต้นกำ เพลงรำเคียว เพลงพวงมาลัย เพลงชาวไร่ เพลงระบำ เพลงบ้านนา เพลงปรบไก่ เพลงสวรรค์ เพลงแอ่วซอ

        เพลงพื้นเมืองบางอย่างได้วิวัฒนาการมาเป็นการแสดงที่มีศิลปะ มีระเบียบแบบแผน เช่น เพลงทรงเครื่อง คือ เพลงฉ่อย ที่แสดงเป็นเรื่อง ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน หรือเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่
ลักษณะการแสดง เริ่มด้วยการไหว้ครู แล้ว่าประ แก้กันอย่างเพลงฉ่อยตามประเพณี แล้วก็แสดงเป็นเรื่องอย่างละคร ร้องดำเนินเรื่องด้วยเพลงฉ่อย และเพลงอื่นแทรกบ้าง ใฃ้วงปี่พาทย์รับการร้องส่งบ้างหรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาของตัวละครบ้าง

        ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคกลาง

เพลงเกี่ยวข้าว

        เพลงเกี่ยวข้าว เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง 
เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงาน และเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกัน 
เนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน  
        เพลงเกี่ยวข้าว บางแห่งเรียก "เพลงกำ" เวลาแสดงมือหนี่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้  ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อมๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย

        ตัวอย่างเพลง (ของเดิม)

 ต้นเสียงชะเอิง เงิงเงย ชะ เอิง เงิง เง้ย
 ลูกคู่เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้
 ต้นเสียงแขกอาสาที่มาก็สาย ทั้งวัวทั้งควายพะรุงพะรัง (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
  พี่ขี่ไอ้เผือกออกหน้า อีสร้อยระย้าตามหลัง
 ลงพี่ขี่ไอ้ทุยลุยซังไปกระทั่งนาเอย (เวลาลง ร้องซ้ำสองครั้ง)
  (ลูกคู่รับย้อนต้น พร้อมๆ กัน)
 ต้นเสียงเกี่ยวข้าวอยู่ข้างทาง เห็นสายระยางเป็นเชือกชัก
  พี่ขอถามน้องสาว ว่าทำข้าวเบาหรือว่าทำข้าวหนัก
 ลงขอยืมเคียวเกี่ยวสักพัก แม่คนที่รักกันเอย

 

เพลงเหย่อย
(ชาย)มาเถิดหนาแม่มามาเล่นพาดผ้ากันเอย
 พี่ตั้งวงไว้ท่าอย่านิ่งรอช้าเลยเอย
 พี่ตั้งวงไว้คอยอย่าให้วงกร่อยเลยเอย
(หญิง)ให้พี่ยื่นแขนขวาเข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
(ชาย)พาดเอยพาดลงพาดที่องค์น้องเอย
(หญิง)มาเถิดพวกเราไปรำกับเขาหน่อยเอย
(ชาย)สวยแม่คุณอย่าช้าก็รำมาเถิดเอย
(หญิง)รำร่ายกรายวงสวยดังหงส์ทองเอย
(ชาย)รำเอยรำร่อนสวยดังกินนรนางเอย
(หญิง)รำเอยรำคู่น่าเอ็นดูจริงเอย
(ชาย)เจ้าเขียวใบข้าวพี่รักเจ้าสาวจริงเอย
(หญิง)เจ้าเขียวใบพวงอย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
(ชาย)รักน้องจริงจริงรักแล้วไม่ทิ้งไปเอย
(หญิง)รักน้องไม่จริงรักแล้วก็ทิ้งไปเอย
(ชาย)พี่แบกรักมาเต็มอกรักจะตกเสียแล้วเอย
(หญิง)ผู้ชายหลายใจเชื่อไม่ได้เลยเอย
(ชาย)พี่แบกรักมาเต็มลำช่างไม่เมตตาเลยเอย
(หญิง)เมียมีอยู่เต็มตักจะให้น้องรักอย่างไรเอย
(ชาย)สวยเอยคนดีเมียพี่มีเมื่อไรเอย
(หญิง)เมียมีอยู่ที่บ้านจะทิ้งทอดทานให้ใครเอย
(ชาย)ถ้าฉีกได้เหมือนปูจะฉีกให้ดูใจเอย
(หญิง)รักจริงแล้วหนอรีบไปสู่ขอน้องเอย
(ชาย)ขอก็ได้สินสอดเท่าไรน้องเอย
(หญิง)หมากลูกพลูจีบให้พี่รีบไปขอเอย
(ชาย)ข้าวยากหมากแพงเห็นสุดแรงน้องเอย
(หญิง)หมากลูกพลูครึ่งรีบไปให้ถึงเถิดเอย
(ชาย)รักกันหนาพากันหนีเห็นจะดีกว่าเอย
(หญิง)แม่สอนไว้ไม่เชื่อคำชายเลยเอย
(ชาย)แม่สอนไว้หนีตามกันไปเถิดเอย
(หญิง)พ่อสอนว่าให้กลับพาราแล้วเอย
(ชาย)พ่อสอนว่าให้กลับพาราพี่เอย
(หญิง)กำเกวียนกำกงต้องจากวงแล้วเอย
(ชาย)กรรมวิบากวันนี้ต้องจากเสียแล้วเอย
(หญิง)เวลาก็จวนน้องจะรีบด่วนไปก่อนเอย
(ชาย)เราร่วมอวยพรก่อนจะลาจรไปก่อนเอย
(พร้อม)ให้หมดทุกข์โศกโรคภัยสวัสดีมีชัยทุกคนเอย