เพลงภาษาและการออกภาษา

        เพลงภาษา หมายถึง เพลงไทยที่มีชื่อขึ้นต้นเป็นชื่อของชาติอื่น ภาษาอื่น เช่น เพลงจีนขิมเล็ก เพลงเขมรพายเรือ เพลงมอญรำดาบ เพลงมอญรำดาบ เพลงพม่ารำขวาน เพลงแขกยิงนก เพลงฝั่งรำเท้า เป็นต้น   เพลงภาษาเป็นเพลงที่นักดนตรีไทยได้แต่งขึ้นเอง โดยเลียนสำเนียงภาษาต่างๆ เหล่านั้น เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นคล้ายๆ กับเพลงหางเครื่อง ต่างกันที่ว่า เพลงหางเครื่องนิยมบรรเลงต่อท้ายเพลงแม่บทที่บรรเลงนำมาก่อนเพียง ๑ เพลงหรือ ๒ เพลงเท่านั้น และต้องเป็นเพลงที่มีเสียงหรือสำเนีงเดียวกันกับเพลงแม่บท ส่วนเพลงภาษาบางทีบรรเลงติดต่อกันไปหลายๆ ภาษา หรือที่เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา"  วิธีออกภาษาตามระเบียบแบบแผนวิธีการบรรเลงเพลงภาษา ที่นิยมใช้บรรเลงกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีหลักอยู่ว่า ต้องออก ๔ ภาษาแรก คือ จีน เขมร ตลุง พม่า แล้วจึงออกภาษาอื่นๆ ต่อไป ซึ่งสมัยก่อนคงจะมีถึง ๑๒ ภาษา จึงมักนิยมเรียกกันติดปากว่า "ออกสิบสองภาษา"
        การบรรเลงเพลงภาษาและออกภาษานี้ เป็นที่นิยมกันมาก บางทีบรรเลงเพลงสามชั้นสำเนียงแขก ก็ออกภาษาแขกต่อท้าย บางทีก็นำเพลงภาษามาบรรเลง ๒-๓ เพลง ติดต่อกัน บางทีก็นำเพลงภาษาไปใช้ในละครพันทาง บางครั้งก็ใช้สำหรับวงปี่พาทย์นางหงส์ ที่บรรเลงในงานศพ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเศร้าโศก
        เพลงออกภษาที่ใช้บรรเลงกันมาแต่เดิม ใช้บรรเลงเฉพาะดนตรีล้วนๆ ไม่มีร้อง ในปัจจุบัน บางครั้งได้มีการนำเอาเนื้อร้องเข้าประกอบเพลงภาษาด้วย เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลินแก่ผู้ชมและผู้ฟังได้อีกแบบหนึ่ง