บ้านรำไทย ดอนเมือง (www.banramthai.com)
เพลงหน้าพาทย์
เพลงหน้าพาทย์ คือ เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยา พฤติกรรมต่างๆ และอารมณ์ของตัวละคร เช่น เพลงโอดสำหรับร้องไห้ เสียใจ เพลงกราวรำสำหรับเยาะเย้ยสนุกสนาน เพลงเชิดฉานสำหรับพระรามตามกวาง เพลงแผละสำหรับครุฑบิน เพลงคุกพาทย์สำหรับทศกัณฐ์แสดงอิทธิฤทธิ์ความโหดร้าย หรือสำหรับหนุมานแผลงอิทธิฤทธิ์ หาวเป็นดาวเป็นเดือน เป็นต้น นอกจากนั้นยังหมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยา สมมุติที่แลไม่เห็นตัวตน เช่น เพลงสาธุการ เพลงตระเชิญ เพลงตระนิมิต เพลงกระบองกัน สำหรับเชิญเทพยดาให้เสด็จมา แต่ไม่มีใครมองเห็นการเสด็จมาของเทพยดาในเวลานั้น เช่น บรรเลงประกอบพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรีและนาฎศิลป์ และยังเป็นเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาที่เป็นอดีต ไม่ใช่ปัจจุบัน เช่น เมื่อพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีจบลง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงทยอยโอด คือ บรรเลงเพลงโอดกับเพลงทยอยสลับกัน เพื่อประกอบกิริยาคร่ำครวญ โศกเศร้า เสียใจของพระนางมัทรี ตัวเอกของกัณฑ์นี้ เมื่อทราบว่าพระเวสสันดรได้บริจาค 2 กุมาร กัณหาและชาลีให้แก่พราหมณ์ชูชกไป พระได้เทศน์เรื่องนี้จนจบลงแล้ว แต่ปี่พาทย์เพิ่งจะบรรเลงเพลงประกอบเรื่อง อย่างนี้ถือว่าเป็นการบรรเลงประกอบกิริยาสมมุติที่เป็นอดีต เป็นต้น เพลงหน้าพาทย์นิยมบรรเลงดนตรีเพียงอย่างเดียว ไม่มีร้อง
เพลงหน้าพาทย์แบ่งตามฐานันดร แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. หน้าพาทย์ธรรมดา ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอารมณ์ของตัวละครที่เป็นสามัญชน เป็นเพลงหน้าพาทย์ไม่บังคับความยาว การจะหยุด ลงจบ หรือเปลี่ยนเพลง ผู้บรรเลงจะต้องดูท่ารำของตัวละครเป็นหลัก เพลงหน้าพาทย์ชนิดนี้โดยมากใช้กับการแสดงลิเกหรือละคร เช่น เพลงเสมอ เพลงเชิด เพลงรัว เพลงโอด
๒. หน้าพาทย์ชั้นสูง ใช้บรรเลงประกอบกิริยา อารมณ์ของตัวละครผู้สูงศักดิ์หรือเทพเจ้าต่างๆ เป็นเพลงหน้าพาทย์ประเภทบังคับความยาว ผู้รำจะต้องยืดทำนองและจังหวะของเพลงเป็นหลักสำคัญ จะตัดให้สั้นหรือเติมให้ยาวตามใจชอบไม่ได้ โดยมากใช้กับการแสดงโขน ละคร และใช้ในพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรีปละนาฎศิลป์ เช่น เพลงตระนอน เพลงกระบองกัน เพลงตระบรรทมสินธุ์ เพลงบาทสกุณี เพลงองค์พระพิราพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงอนงค์พระพิราพ ถือกันว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดในบรรดาเพลงหน้าพาทย์ทั้งหลาย
เพลงหน้าพาทย์แบ่งตามหน้าที่การนำไปใช้ประกอบการแสดงของตัวละคร แบ่งได้ ๗ ลักษณะ คือ
๑.
เพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาไปมา ได้แก่
เพลงเสมอ
ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางระยะใกล้ ไปช้าๆ ไม่รีบร้อน
เพลงเชิด ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางระยะไกลไปมาอย่างรีบร้อน
เพลงโคมเวียน ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางในอากาศของเทวดาและนางฟ้า
เพลงแผละ ใช้ประกอบกิริยาการไปมาของสัตว์มีปีก
เช่น นก ครุฑ
เพลงชุบ
ใช้ประกอบกิริยาไปมาของตัวละครศักดิ์ต่ำ เช่น นางกำนัล
๒. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการยกทัพ
ได้แก่
เพลงกราวนอก สำหรับการยกทัพของมนุษย์
ลิง
เพลงกราวใน
สำหรับการยกทัพของยักษ์
๓. เพลงหน้าพาทย์ประกอบความสนุกสนานร่าเริง ได้แก่
เพลงกราวรำ สำหรับกิริยาเยาะเย้ย
เพลงสีนวล เพลงช้า เพลงเร็ว
สำหรับแสดงความรื่นเริง
เพลงฉุยฉาย แม่ศรี สำหรับแสดงความภูมิใจในความงาม
๔. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์
ได้แก่
เพลงตระนิมิตร สำหรับการแปลงกาย
ชุบคนตายให้ฟื้น
เพลงคุกพาทย์ สำหรับการแสดงอิทธิฤทธิ์
หรือเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว
เพลงรัว
ใช้ทั่วไปในการสำแดงเดช หรือแสดงปรากฎการณ์โดยฉับพลัน
๕. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการต่อสู้และและติดตาม
ได้แก่
เพลงเชิดนอก สำหรับการต่อสู้หรือการไล่ติดตามของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์
เช่น หนุมานไล่จับนางสุพรรณมัจฉา หนุมานไล่จับนางเบญกาย
เพลงเชิดฉาน สำหรับตัวละครที่เป็นมนุษย์ไล่ตามสัตว์
เช่น พระรามตามกวาง
เพลงเชิดกลอง สำหรับการต่อสู้
การรุกไล่ฆ่าฟันกันโดยทั่วไป
เพลงเชิดฉิ่ง ใช้ประกอบการรำก่อนที่จะใช้อาวุธสำคัญหรือก่อนกระทำกิจสำคัญ
๖. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอารมณ์ทั่วไป
ได้แก่
เพลงกล่อม สำหรับการขับกล่อมเพื่อการนอนหลับ
เพลงโลม สำหรับการเข้าพระเข้านาง การเล้าโลมด้วยความรัก
เพลงโอด สำหรับการร้องไห้
เพลงทยอย สำหรับอารมณ์เสียใจ
เศร้าใจขณะที่เคลื่อนที่ไปด้วย เช่น เดินพลางร้องไห้พลาง
๗. เพลงหน้าพาทย์เบ็ดเตล็ด
ได้แก่
เพลงตระนอน แสดงการนอน
เพลงลงสรง สำหรับการอาบน้ำ
เพลงเซ่นเหล้า
สำหรับการกิน การดื่มสุรา
เพลงหน้าพาทย์ทั้ง ๗ ลักษณะ ล้วนเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่นำมาใช้ในการแสดงต่างๆ เช่น ลิเก ละครและโขนอยู่บ่อยๆ