ละครพูด

     ละครพูดเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครพูดสมัครเล่นเป็นครั้งแรก เนื้อเรื่องละครพูดที่แสดงในสมัยนี้ ดัดแปลงมาจากบทละครรำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
     พ.ศ. 2422 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ลิลิตนิทราชาคริต จบบริบูรณ์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาคม "แมจิกัลโซไซเอตี" โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นนายกสมาคมจัดการแสดงละครเรื่องนี้ขึ้น ทรงเป็นผู้กำหนดตัวละครเอง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ เป็นอาบูหะซัน พระองค์เจ้าจิตรเจริญ คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นตัวนางนอซาตอล
     พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงละครเรื่องอิเหนาในงานเฉลิมพระราชมนเทียร พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ละครที่แสดงในครั้งนี้เป็นละครรำ แต่มีบทเจรจาที่ทรงพระราชนิพนธ์เองบ้าง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรและเจ้านายพระองค์อื่นๆ แต่งถวายบ้าง
     พ.ศ. 2447 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษา และเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว ทรงตั้ง "ทวีปัญญาสโมสร" ขึ้นในพระราชอุทยานสราญรมย์ แต่ในสมัยเดียวกันนี้ได้มีการตั้ง "สามัคยาจารย์สโมสร" ซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานอยู่ก่อนแล้ว  กิจกรรมของ 2 สโมสรที่คล้ายคลึงกัน คือการแสดงละครพูดแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีส่วนร่วมในกิจการการแสดงละครพูดของทั้ง 2 สโมสรนี้ จึงได้ถวายพระเกียรติว่าทรงเป็นผู้ให้กำเนิดละครพูด
     ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคทองของละครพูด ประชาชนให้ความสนใจต่อละครประเภทนี้มาก เพราะเห็นว่าเป็นของแปลกและแสดงได้ง่าย  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนละครพูดอย่างดียิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดที่ดีเด่นเป็นจำนวนมาก และทรงร่วมในการแสดงด้วยหลายครั้ง

     ละครพูดแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ คือ
     1. ละครพูดล้วนๆ หรือละครพูดแบบร้อยแก้ว
     2. ละครพูดแบบร้อยกรอง
     3. ละครพูดสลับลำ

     ผู้แสดง  
     ละครพูดล้วนๆ ในสมัยโบราณใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมานิยมใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน ต่อมานิยมใช้ผู้แสดงชายจริงหญิงแท้
     ละครพูดแบบร้อยกรอง ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง มีบุคคลิกและการแสดงเหมาะสมตามลักษณะที่บ่งไว้ในบทละคร น้ำเสียงแจ่มใสชัดเจนดี เสียงกังวาน พูดฉะฉาน ไหวพริบดี
     ละครพูดสลับลำ ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง เหมือนละครพูดแบบร้อยกรอง

     การแต่งกาย  
     ละครพูดล้วนๆ  แต่งกายตามสมัยนิยม ตามเนื้อเรื่องโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของตัวละคร
     ละครพูดแบบร้อยกรอง  แต่งให้เหมาะสมถูกต้องตามบุคคลิกของตัวละคร และยุคสมัยที่บ่งบอกไว้ในบทละคร
     ละครพูดสลับลำ  การแต่งกายเหมือนละครพูดล้วนๆ หรือแต่งกายตามเนื้อเรื่อง

     เรื่องที่แสดง  
     ละครพูดล้วนๆ เรื่องที่แสดงเรื่องแรก คือ เรือง"โพงพาง" เมื่อ พ.ศ. 2463 เรื่องต่อมาคือ "เจ้าข้าสารวัด" ทั้งสองเรื่อง เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

     ละครพูดแบบร้อยกรอง จำแนกตามลักษณะคำประพันธ์ดังนี้ คือ
        1. ละครพูดคำกลอน จากบทประพันธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น เรื่องเวนิสวาณิช ทรงแปลเมื่อ พ.ศ. 2459  เรื่องพระร่วง ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2460
        2. ละครพูดคำฉันท์ ได้แก่ เรื่องมัทนะพาธา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2466
        3. ละครพูดคำโคลง  ได้แก่ เรื่องสี่นาฬิกา ของอัจฉราพรรณ(อาจารย์มนตรี ตราโมท) ประพันธ์เมือปี พ.ศ. 2469

     ละครพูดสลับลำ  ได้แก่ เรื่องชิงนาง และปล่อยแก่ ซึ่งเป็นของนายบัว ทองอิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องแทรก โดยใช้พระนามแฝงว่า "ศรีอยุธยา" และทรงแสดงเป็นหลวงเกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2449

     การแสดง
     ละครพูดล้วนๆ  การแสดงจะดำเนินเรื่องด้วยวิธีพูดใช้ท่าทางแบบสามัญชนประกอบ การพูดที่เป็นธรรมชาติ  ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของละครชนิดนี้คือ ในขณะที่ตัวละครคิดอะไรอยู่ในใจ มักจะใช้วิธีป้องปากพูดกับผู้ดุ ถึงแม้จะมีตัวละครอื่นๆ อยู่ใกล้ๆ ก็สมมติว่าไม่ได้ยิน
     ละครพูดแบบร้อยกรอง  การแสดงจะดำเนินเรื่องด้วยวิธีพูดที่เป็นคำประพันธ์ชนิด คำกลอน คำฉันท์ คำโคลง
     ละครพูดสลับลำ  ยึดถือบทพูดมีความสำคัญในการดำเนินเรื่องแต่เพียงอย่างเดียว บทร้องเป็นเพียงสอดแทรกเพื่อเสริมความ ย้ำความ

     ดนตรี 
     ละครพูดล้วนๆ  บรรเลงโดยวงดนตรีสกลหรือวงปี่พาทย์ไม้นวม แต่จะบรรเลงประกอบเฉพาะเวลาปิดฉากเท่านั้น
     ละครพูดแบบร้อยกรอง  บรรเลงดนตรีคล้ายกับละครพูดล้วนๆ
     ละครพูดสลับลำ  บรรเลงดนตรีคล้ายกับละครพูดล้วนๆ แต่บางครั้งในช่วงดำเนินเรื่อง ถ้ามีบทร้อง ดนตรีก็จะบรรเลงร่วมไปด้วย

     เพลงร้อง  
     ละครพูดล้วนๆ  เพลงร้องไม่มี ผู้แสดงดำเนินเรื่องโดยการพูด
     ละครพูดแบบร้อยกรอง   เพลงร้องไม่มี ผู้แสดงดำเนินเรื่องโดยการพูดเป็นคำประพันธ์ชนิดนั้นๆ
     ละครพูดสลับลำ  มีเพลงร้องเป็นบางส่วน โดยทำนองเพลงขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์ที่จะแต่งเสริมเข้ามาในเรื่อง