ละครนอก

     เป็นละครที่พัฒนามาจากละครชาตรี แต่เดิมคงมีตัวละครเพียง ๓-๔ ตัว อย่างละครชาตรี ต่อมามีการแสดงละครกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในหมู่ราษฎร มีการเล่นเรื่องต่างๆ มากขึ้น ต้องเพิ่มตัวละครขึ้นตามเนื้อเรื่อง  
ผู้แสดงยังคงเป็นชายล้วน แต่การแต่งกายได้ประดิษฐ์เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงให้ประณีตงามขึ้น

     เรื่องที่แสดง
        ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมเล่นกันหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นประเภทจักรๆ วงศ์ๆ นิทานชาวบ้าน นิทานชาดก
มีคติสอนใจ เช่น การเกด  คาวี  ไชยทัต  พิกุลทอง  พิมพ์สวรรค์  พิณสุริยวงศ์  มโนราห์  โม่งป่า  มณีพิชัย  สังข์ทอง  
สังข์ศิลป์ชัย  สุวรรณศิลป์  สุวรรณหงส์  โสวัต
        ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอก ในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ  สังข์ทอง  ไชยเชษฐ์  ไกรทอง  
มณีพิชัย  คาวี  สังข์ศิลป์ชัย  ทั้ง ๖ เรื่องนี้ พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้ละครผู้หญิงของหลวงแสดง 

     การแต่งกาย คงแต่งอย่างชาวบ้านธรรมดา เพราะเป็นละครชาวบ้าน เพียงแต่ให้รัดกุมสะดวกในการทำบท และใช้ผ้าโพกหรือห่มพอให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย  ต่อมา มีผู้ประดิษฐ์ให้งดงาม ปักดิ้นเลื่อมแพราวพราว ศีรษะสวมชฎาและรัดเกล้า
ทั้งรัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว ตลอดจนปันจุเหร็จ กระบังหน้ารูปต่างๆ

     ผู้แสดง  เริ่มมีผู้หญิงแสดงละครนอก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แต่เป็นละครหลวง ผู้แสดงต้องเป็นคนแคล่วคล่องว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณชำนาญทั้งรำและร้อง มีลูกคู่รับ  หากเป็นบทเล่าหรือบรรยาย ลูกคู่จะร้อง และผู้แสดงต้องพูดเอง เล่นตลกเอง มีคนบอกบทร้องให้

     การแสดง  ดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว แทรกตลกขบขัน ไม่เคร่งครัดขนบประเพณี ตลกจะเล่นกับเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินและมเหสีก็ได้  การร่ายรำด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง ว่องไว

     เพลงร้องและดนตรี  เดิมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลงประกอบการแสดง ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตามความใหญ่โตของงาน  เพลงร้องส่วนมากเป็นเพลงชั้นเดียว หรือสองชั้นที่มีจังหวะรวบรัด ดำเนินเรื่องด้วยเพลงร่ายนอก ระดับเสียงในการร้องและบรรเลงใช้ทางนอก เหมาะกับเสียงผู้ชาย

     สถานที่แสดง  โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓ ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก ๒ ทาง หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำกรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับละครพักแต่งตัว