ละครหลวงวิจิตรวาทการ

     หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ ๒๔๗๕ กรมศิลปากรได้รวบรวมศิลปิน โขน ละคร และนักดนตรี ขึ้นมารวมกันใหม่อีกครั้งหนึ่งตั้งเป็นกองขึ้นในกรมศิลปากร ทั้งได้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ขึ้นฝึกฝนนักเรียนด้วยเพื่อรักษาศิลปะของชาติไว้มิให้เสื่อมสูญ  ในระยะนี้หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เป็นทั้งนักการทูตและนักประวัติศาสตร์ ท่านจึงมองเห็นคุณค่าทางการละครที่จะใช้เป็นสื่อปลุกใจ ให้ประชานเกิดความรักชาติ  เนื้อหาจะนำมาจากประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่ง บทละครจะมีทั้งรัก รบ อารมณ์สะเทือนใจ ความรักที่มีต่อคู่รัก ถึงแม้จะมากมายเพียงไร ก็ไม่เท่ากับความรักชาติ ตัวเอกของเรื่องเสียสละชีวิต พลีชีพเพื่อชาติ  ด้วยเหตุที่ละครของท่านไม่เหมือนการแสดงละครที่มีอยู่ก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกละครของท่านว่า "ละครหลวงวิจิตรวาทการ"

     ผู้แสดง  จะใช้ผู้แสดงที่เป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิง แสดงจริงตามบทบาทในเรื่อง

     การแต่งกาย   แต่งกายตามเนื้อเรื่องและให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ

     เรื่องที่แสดง  ได้แก่ ราชมนู  พระเจ้ากรุงธน  ศึกถลาง  เจ้าหญิงแสนหวี  พระมหาเทวี  เบญจเพส  น่านเจ้า
อนุสาวรีย์ไทย  พ่อขุนผาเมือง  ดาบแสนเมือง  ชนะมาร เจ้าหญิงกรรณิการ์  สีหราชเดโช  ตายดาบหน้า  ลานเลือดลานรัก  เพชรรัตน์-พัชรา ลูกพระคเณศ  ครุฑดำ  โชคชีวิต  อานุภาพ  พ่อขุนรามคำแหง  อานุภาพแห่งความเสียสละ  
อานุภาพแห่งความรัก  อานุภาพแห่งศีลสัตย์ และเลือดสุพรรณ

     ดนตรี  บรรเลงด้วยวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากลประกอบกัน

     เพลงร้อง  มีทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล ซึ่งการใช้เพลงไทยสากลจะมี ๓ ลักษณะ คือ
      ๑. เพลงไทยสากลที่ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกัน มักเป็นเพลงรัก เช่น เพลงดวงจันทร์ ในบทละครเรื่องเลือดสุพรรณ
      ๒. เพลงไทยสากลที่ให้ตัวละครร้องประกอบการแสดง เนื้อร้องและท่วงทำนองมักสอดคล้องกับบรรยากาศในท้องเรื่อง เช่น เพลงยากเย็น ในบทละครเรื่องเลือดสุพรรณ
      ๓. เพลงไทยสากลอีกประเภท คือ เพลงปลุกใจ ซึ่งมักแทรกอยู่ในบทละครประวัติศาสตร์ของท่านแทบทุกเรื่อง เช่น เพลงเลือดสุพรรณ ในบทละครเรื่องเลือดสุพรรณ

     สถานที่แสดง  แสดงได้ทุกสถานที่ และจะมีการจัดฉากที่วิจิตรบรรจงประกอบการแสดง