ละครชาตร

     เป็นละครรำที่เก่าแก่ที่สุด มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  นับเป็นละครชนิดแรก ที่ไทยเริ่มมีการแสดงเป็นเรื่อง มีการร่ายรำตามบทร้องที่มีเนื้อเรื่อง  ระยะแรกเริ่มผู้แสดงเป็นชายล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ นายโรง(พระเอก) นาง และตลก หรือจำอวด ซึ่งแสดงเป็นตัวประกอบอื่นๆ ด้วย ตามเนื้อเรื่อง เช่น ฤาษี ม้า ยักษ์ พราน เสนา

     เรื่องที่แสดง  ละครชาตรีนิยม แสดงเรื่อง มโนห์รา และรถเสน

     การแต่งกาย  สมัยโบราณผู้แสดงเป็นชายล้วน แต่งกายไม่สวมเสื้อ นุ่งสนับเพลา เชิงกรอมข้อเท้า นุ่งผ้าหยักรั้ง จีบโจงไว้หางหงส์ มีห้อยหน้า เจียระบาด รัดสะเอว สวมสังวาล กรองคอ ทับทรวง ศีรษะสวมเทริด(เซิด)

      การแสดง  เรื่มด้วยพิธีบูชาครู เป็นการเบิกโรง แล้วจึงโหมโรง ร้องประกาศหน้าบท ร้องขานเอ เป็นการไหว้ครู  นายโรงออกรำซัด พร้อมทั้งว่าคาถาอาคมกันเสนียดจัญไร รำเวียนซ้าย เรียกว่า ชักใยแมงมุม หรือชักยันต์  เริ่มแสดงโดยตัวละครออกนั่งเตียง ตัวละครต้องร้องเอง มีลูกคู่รับ มีคนบอกบท  จบการแสดงจะมีการรำซัดอีกครั้ง พร้อมทั้งว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวา เรียกว่าคลายยันต์ เป็นการถอนอาถรรพณ์

     ดนตรีประกอบ  มีน้อยชิ้น และเป็นเครื่องเบาๆ เหมาะที่จะขนย้ายร่อนเร่ไปแสดงที่ต่างๆ ดนตรีมีเพียง ปี่ ๑ เลา โทน(ชาตรี) ๑ คู่ กลองเล็ก(กลองชาตรี) ๑ คู่ ฆ้องคู่ ๑ ราง  ละครชาตรีที่มาแสดงในกรุงเทพฯ มักตัดเอาฆ้องคู่ออก ใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย

     เพลงร้อง  ในสมัยโบราณตัวละครมักจะเป็นผู้ด้นกลอนและร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า ชาตรี อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี ๒ ร่ายชาตรี ๓ รำชาตรี ชาตรีตะลุง

     สถานที่แสดง  ที่บ้าน ที่กลางแจ้ง หรือจะเป็นที่ศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย ไม่ต้องมีฉาก  บริเวณที่แาดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัยอีก ๑ เสา เสากลางนี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางโรง  เสานี้ใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่าง ๆ) ในภายหลัง เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว