ฟ้อนสาวไหม

      

    ฟ้อนสาวไหม เป็นศิลปะการฟ้อนรำประเภทหนึ่งของชาวล้านนาที่มีพัฒนาการทางรูปแบบมาจากการ เลียนแบบอากัปกิริยาการสาวไหม ผู้ฟ้อนส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสาว ลีลาในการฟ้อนดูอ่อนช้อยและงดงามยิ่ง          
 ฟ้อนสาวไหมเป็นฟ้อนทางภาคเหนือ ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ได้ปรับปรุงสืบทอด มาจาก ครูพลอยศรี สรรพศรี ทั้งนี้ ครูพลอยศรีได้ถ่ายแบบรับท่ามาจากหญิงชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย ชื่อ บัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ซึ่งคุณบัวเรียวก็ได้เรียนการฟ้อนนี้มาจากบิดาของตนอีกทีหนึ่ง

ผู้แสดง         ใช้ผู้หญิงแสดงจำนวนเท่าไรก็ได้ ปัจจุบันก็มีผู้ชายเข้ามาแสดงด้วยก็มี

การแต่งกาย  แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้

การแสดง     เริ่มจากการแสดงท่าหักร้างถางพง เพาะปลูกฝ้ายและหม่อน ซึ่งเป็นการแสดงของช่างฟ้อนชาย เพิ่งเพิ่มเข้ามาภายหลัง  ต่อจากนั้นก็เป็นท่วงท่าในการฟ้อนสาวไหมเริ่มจากท่าเลือกไหม ดึงไหมออกจากรัง ม้วนไหม สาวไหมออกจากตัว ไหล่ ศีรษะ เท้า ม้วนไหมใต้ศอก พุ่งกระสวย กรอไหม พาดไหม ป๊อกไหม จนกระทั่งชื่นชมกับผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว

ดนตรี      ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมมี จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมาครูนาฎศิลป์ได้เลือกสรรใช้เพลง "ซอปั่นฝ้าย" ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับการฟ้อนสาวไหมอย่างงดงามยิ่ง

สถานที่แสดง    ไม่จำกัดเวที

โอกาสที่แสดง   แสดงได้ทุกโอกาส และในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ