นาฏศิลป์ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

     ประวัตินาฏศิลป์พม่าที่มีหลักฐานแน่นอน ภายหลัง พ.ศ. 2310 คือ หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พม่าได้รับอิทธิพลนาฏศิลป์ไปจากไทย ก่อนหน้านี้ นาฏศิลป์ของพม่าเป็นของพื้นเมืองมากกว่าที่จะได้รับอิทธิพลมาจากภายนอกประเทศ เหมือนกับประเทศอื่นๆ  นาฏศิลป์พม่าเริ่มต้นจากพิธีทางศาสนา ต่อมาเมื่อพม่ามีการติดต่อกับอินเดียและจีน ท่าร่ายรำของ 2 ชาติดังกล่าว ก็จะมีอิทธิพลแทรกซึมในนาฏศิลป์พื้นเมืองของพม่า  แต่ท่าร่ายรำของเดิมมีความเป็นเอกลักษณ์ของพม่าจริงๆ

     นาฏศิลป์การละครในประเทศพม่า มีลักษณะพิเศษ คือ ในแต่ละยุคสมัยลักษณะนาฏศิลป์และการละคร จะแตกต่างกันออกไปตามอิทธิพลภายนอกที่ได้รับ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ
     1. ยุคก่อนรับนับถือพระพุทธศาสนา
     เป็นยุคของการนับถือผี  การฟ้อนรำเป็นไปในการทรงเจ้าเข้าผี  บูชาผีและบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ต่อมาก็มีการฟ้อนรำในงานพิธีต่างๆ เช่น โกนจุก
     2. ยุคนับถือศาสนาพุทธ
     พม่ารับนับถือศาสนาพุทธหลังปี พ.ศ. 1559  ในสมัยนี้การฟ้อนรำเพื่อบูชาผีก็ยังมีอยู่ และการฟ้อนรำกลายเป็นส่วนหนึ่งของการบูชาในพุทธศาสนาด้วย
     หลังปี พ.ศ. 1800 เกิดมีการละครแบบหนึ่ง เรียกว่า "นิพัทขิ่น" เป็นละครเร่ แสดงเรื่อง พุทธประวัติเพื่อเผยแพร่ความรู้ในพุทธศาสนา เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย  ต่อมาเพื่อให้ความสนุกสนานจึงได้เพิ่มบทตลกให้มากขึ้น บทตลกนี้ไม่มีเขียนไว้ ผู้แสดงต้องหามุขแทรกเอาเอง  ตัวตลกนั้นมีทั้งหญิงและชาย มักจะเป็นสาวใช้ คนใช้ คนสนิทของตัวเอก  ต่อมาบทของเทวทัตต์ก็กลายเป็นบทตลกไปด้วย
     ละครนิพัทขิ่น มักจะแสดงเรื่องพุทธประวัติ ตอนตรัสรู้ เพราะไม่นิยมแสดงบทบาทของพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกองค์สำคัญ
     ต่อมาพม่าได้รับอิทธิพลของอินเดียโดยผ่านทางเขมร ละครนิทัทขิ่นจึงแสดงเรื่องอื่นๆ เช่น รามายณะ เทพนิยายต่างๆ และเหตุการณ์ในราชสำนัก
     3. ยุคอิทธิพลละครไทย
     หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ชาวไทยก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นจำนวนมาก พวกละครและดนตรี ถูกนำไปไว้ในราชสำนัก เกิดความนิยมละครแบบไทยขึ้น จึงถือเป็นเครื่องประดับราชสำนัก  นิยมให้เด็กพม่าหัดละครไทย ละครแบบพม่าในยุคนี้เรียกว่า "โยธยาสัตคยี" หรือละครแบบโยธยา ท่ารำ ดนตรี และเรื่องที่แสดงรวมทั้งภาษาที่ใช้ก็เป็นของไทย  มีการแสดงอยู่ 2 เรื่อง คือ รามเกียรติ์ เล่นแบบโขน  และอิเหนา เล่นแบบละครใน

     ในปี พ.ศ. 2328 เมียวดี ข้าราชการพม่า ได้คิดละครแบบใหม่ขึ้น ชื่อเรื่อง "อีนอง" ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับอิเหนามาก  มีสิ่งที่แปลกออกไปคือตัวละคร ตัวละครของเรื่องนี้ มีลักษณะเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญที่มีกิเลส มีความดีความชั่ว ละครเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดละครในแนวนี้อีกหลายเรื่อง
     ต่อมา ละครในราชสำนักเสื่อมความนิยมลง เมื่อกลายเป็นของชาวบ้านก็ค่อยๆ เสื่อมลง แต่ละครแบบนิพัทขิ่นกลับเฟื่องฟูขึ้น แต่ก็ลดมาตรฐานลงจนกลายเป็นจำอวด
      เมื่อประเทศพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว ในปี พ.ศ. 2428 ละครหลวงและละครพื้นเมืองซบเซา  ต่อมามีการละครที่นำแบบอย่างมาจากอังกฤษเข้าแทนที่  ถึงสมัย ปัจจุบันนี้ละครของเก่าคู่บ้านคู่เมืองของพม่าจึงหาชมได้ยาก